วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โสมไทยทางเลือกของเบาหวาน

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
เรื่องโดย : ผศ.ดร.ไชยยง รุจจนเวท ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยาของพืชสมุนไพรและพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน สำนักวิชแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
โสมไทยทางเลือกของเบาหวาน
โสมไทยทางเลือกของเบาหวาน

          เชื่อหรือไม่ว่า ถ้าคุณไม่เป็นเบาหวานก็ต้องมีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน นี่อาจฟังดูคล้ายๆสำนวนหมาป่าที่กล่าวโทษลูกแกะในนิทานอิสป แต่ก็เป็นความจริงที่ขมขื่น
          เบาหวาน เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ซึ่งประกอบไปด้วยโรคหลักอื่นๆ อีก คือโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เบาหวานที่เป็นในเด็ก เรียกว่า เบาหวานชนิดที่หนึ่ง มีจำนวนน้อย และมักเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่เบาหวานที่เป็นในผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า เบาหวานชนิดที่สอง เกิดได้จากหลายสาเหตุ รู้บ้างไม่รู้บ้าง เป็นเบาหวานระยะแรก ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ชัดเจน ถ้าไม่ตรวจวัดน้ำตาลในเลือด ก็ยากรู้

          ในร่างกายมนุษย์มีฮอร์โมนชื่อ อินซูลิน สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ หลังจากกินอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลิน ซึ่งจะไปจับกับตัวรับที่ผนังเซลล์ มีผลเปิดประตูให้น้ำตาลเข้าไปในเซลล์ได้ เซลล์ได้รับน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานและระดับน้ำตาลในเลือดก็ลดลงเป็นปกติ
          เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ร่างกายไม่ยอมสร้างอินซูลิน ดังนั้น จึงต้องให้ฮอร์โมนชนิดนี้ไปตลอดชีวิต ขณะที่เบาหวานชนิดที่สองนั้น อาจเป็นเพียงการบกพร่องของอินซูลิน ทั้งปริมาณหรือคุณภาพ หรืออาจเกิดจากตัวรับอินซูลินดื้อด้าน ไม่ยอมทำงาน น้ำตาลในเลือดจึงคั่งค้างอยู่นาน เมื่อน้ำตาลมีมากๆ เข้าก็ล้นออกมาทางปัสสาวะ เป็นที่มาของชื่อ เบาหวาน ลำพังการมีน้ำตาลในเลือดมากอย่างเดียวไม่ทำให้เจ็บป่วยอะไรฉับพลัน แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ เข้า น้ำตาลที่คั่งนี้ก็ทำให้หลอดเลือดเล็กๆ เสื่อม เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ถึงตอนนี้ อาการต่างๆ ก็จะชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกมือเท้าชา ตาพร่า แผลหายยาก รุนแรงมากๆ ถึงขั้นตาบอด อาจต้องตัดแขนขาและส่วนใหญ่เสียชีวิตจากภาวะไตวาย
          สมัยก่อน คนไม่เห็นความสำคัญของการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นเบาหวานระยะแรกจึงไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้การตรวจวัดง่าย สะดวก ทำได้เองที่บ้านหรือรับบริการฟรีที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน เมื่อรู้ตัวว่าเป็นเบาหวานระยะแรก เพียงใส่ใจเรื่องอาหารและออกกำลังกายให้เหมาะสม ก็อาจควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้
โสมไทยทางเลือกของเบาหวาน thaihealth
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
          ในระยะนี้เอง อาจใช้พืชสมุนไพรช่วยมีหลายชนิดให้เลือกกินเป็นอาหารได้ หมุนเวียนสลับกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พืชเถาจำพวก ฟักเขียว ฟักทอง บวบ น้ำเต้านำมาต้มหรือนึ่ง กินกับน้ำพริกที่ชอบ
          เมื่อเร็วๆ นี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง รายงานผลการศึกษาฤทธิ์รักษาเบาหวานในสัตว์ทดลองของพืชชนิดหนึ่ง คนไทยเรียกชื่อว่าโสมไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอันใดกับโสมจีนหรือโสมเกาหลี เพียงแต่มีรากสะสมอาหารที่ดูคล้ายๆ รากโสม พืชที่เรียกโสมไทยนี้ ดั้งเดิมจริงๆ ก็ไม่ใช่ไม้พื้นบ้านของไทย เพียงแต่มีคนนำมาปลูกเมื่อหลายสิบปีก่อน ด้วยคุณสมบัติที่ทนร้อน ทนแล้ง ทนโรค ขยายพันธุ์ง่าย กินเป็นผักได้ ถึงวันนี้ พบได้ทั่วไป ทั้งที่มีคนปลูกและขึ้นเอง
          โสมไทยเป็นพืชล้มลุก อวบน้ำ โตเต็มที่สูงได้ถึงหัวเข่า ใบเดี่ยวรูปไข่กลับเรียวยาวราว 1 นิ้วมือ โคนใบแหลม ปลายใบป้าน มีหยักเว้าเข้าหาเส้นกลางเล็กน้อย ทั้งก้านและใบมีน้ำเป็นส่วนใหญ่ หักดูเห็นเป็นเมือกลื่น ดอกขนาดเล็กสีม่วงมี 5 กลีบ รวมอยู่ในเป็นช่อที่มีก้านยาว ผลสีแดง กลมรี มีขนาดเล็ก มีเมล็ดจำนวนมากปลูกโดยใช้เมล็ดหรือปักชำก็ได้
          โสมไทย อุดมไปด้วยวิตามินเอและซี ธาตุเหล็กและแคลเซียม รายงานวิจัยชี้ว่า สารสกัดจากโสมไทยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันตับอักเสบ และที่น่าสนใจมากคือ ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน และปรับระดับไขมันในเลือด คล้ายกับยารักษาเบาหวานที่ชื่อเมทฟอร์มินอีกด้วย
          คนที่รู้จักกินโสมไทย เด็ดทั้งก้านทั้งใบที่ไม่แก่นัก ผัดน้ำมัน หรือ ต้มแกงกินได้สารพัด รสจืด ลื่นๆ นิดหน่อยปลูกครั้งเดียว ต่อไปก็ขึ้นเองได้ ผ่านไปที่รกร้างที่ไหน มองหาดูก็อาจเจอ กินโสมไทยทุกมื้อทุกวัน คงเบื่อแย่ ควรสลับกับพืชผักชนิดอื่นบ้าง เป็นเบาหวานระยะแรก ดูแลรักษาตัวดีๆ ก็อยู่ได้เหมือนคนปกติ
          ในนิทานอิสป หมาป่ากล่าวโทษลูกแกะว่า เป็นสาเหตุทำให้น้ำขุ่น "ถ้าไม่ใช่เจ้า ก็ต้องเป็นพ่อของเจ้า" ฟังดูเลื่อนลอย แต่นั่นก็เป็นวิสัยของคนพาลผู้มีอำนาจ
          ดูแลสุขภาพกันให้ดีเถิดครับ อย่าให้ใครมากล่าวโทษคนไทยเรื่องเป็นเบาหวานว่า "ถ้าไม่ใช่คุณ ก็ต้องเป็นญาติคุณ"เราต่างโทษกันเองมามากเกินพอแล้ว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น