วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สัญญาณเตือนภัยภาวะโลหิตจาง

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข้อมูลจาก นายแพทย์ชินดล วานิชพงษ์พันธุ์ หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
สัญญาณเตือนภัยภาวะโลหิตจาง
สัญญาณเตือนภัยภาวะโลหิตจาง
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นภาวะโลหิตจางที่พบบ่อย และตอบสนองต่อการรักษาได้ดี หากวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที จะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ อีกทั้งภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อาจเป็นอาการนำหรืออาการแรกเริ่มของโรคร้ายแรงหลายชนิด จึงไม่สามารถนิ่งนอนใจ และมองข้ามได้ จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุควบคู่ไปกับการรักษาความรู้ความเข้าใจภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ก่อนอื่นต้องเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของเหล็กในร่างกาย   โดยปกติร่างกายคนเราใช้ ธาตุเหล็กในการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ธาตุเหล็กจึงบรรจุอยู่ในเม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุ จะมีการปล่อยธาตุเหล็กคืนสู่ร่างกาย เพื่อนำมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก ทำให้ร่างกายเกิดสมดุลและไม่ขาดธาตุเหล็ก
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง
ธาตุเหล็ก มีอยู่ในอาหารทั่วไป โดยอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ (ตับและม้าม) เนื้อสัตว์ ไข่แดง หอย (หอยกาบ หอยนางรม หอยแมลงภู่) ผู้ที่รับประทาน มังสวิรัติ อาจกินถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้แห้ง เช่น แอปริคอต และลูกเกด ยีสต์หมักเบียร์ สาหร่าย กากน้ำตาล และรำข้าวสาลี จะทราบได้อย่างไรว่าโลหิตจาง
เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง เมื่อขาดธาตุเหล็ก จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (หรือเลือดจาง หรือซีด) ร่วมกับมีอาการ เหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น วิงเวียน หนาวง่าย สมาธิสั้น การเฉียบคมฉับไวในการตอบสนองหรือคิดวิเคราะห์ช้าลง อาจพบลิ้นเลี่ยนและเล็บแบนเป็นรูปช้อนซึ่งเมื่อตรวจวัดระดับความเข้มข้นของเลือด หรือฮีโมโกลบิน จะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ อีกทั้งพบเม็ดเลือดแดงขนาดเล็ก และระดับเหล็กสะสมต่ำภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก มีสาเหตุสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
1. การเสียเลือดเรื้อรัง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เช่น ประจำเดือนออกมากในหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือมีแผล หรือเนื้องอกในทางเดินอาหาร ทำให้เสียเลือด ร่างกายไม่สามารถนำธาตุเหล็กกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก
2. ร่างกายต้องการเหล็กมากขึ้น พบในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
3. ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กลดลงพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่กินยาซึ่งรบกวนการดูดซึมของธาตุเหล็ก
4. ร่างกายได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ  พบในเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมมารดา หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือรับประทานอาหารเองไม่ได้
การรักษาเมื่อเกิดภาวะโลหิตจาง
การรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก มีหลักสำคัญ 2 ประการ  คือ ให้ธาตุเหล็กทดแทน ร่วมกับตรวจหาและแก้ไขสาเหตุ หากไม่มีปัญหาการดูดซึมธาตุเหล็ก นิยมให้ธาตุเหล็กทดแทนโดยการรับประทาน ธาตุเหล็ก เม็ด เริ่มรับประทาน 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหารจนความเข้มข้นเลือดหรือระดับฮีโมโกลบิน กลับมาเป็นปกติ จึงลดปริมาณลงเป็น 1 เม็ดหลังอาหารเช้า เย็น และ 1 เม็ด วันละครั้งตามลำดับ ควรรับประทานอย่างน้อย 3-6 เดือน หรือจนแก้ไขสาเหตุได้ เพื่อให้ร่างกายมีปริมาณเหล็กสะสมเพียงพอ
ถึงแม้ว่าในอาหารดังกล่าวข้างต้นจะมีปริมาณธาตุเหล็กสูง แต่หากรักษาโดยการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงนั้น มีข้อด้อยกว่าการรับประทานธาตุเหล็กสกัดเม็ด เนื่องจากเราไม่สามารถคำนวณปริมาณเหล็กจากอาหารที่รับประทานได้แน่นอน อีกทั้งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง มักเป็นอาหารที่มีไขมัน และสารเกาต์ (กรดยูริก) สูงอีกด้วย จึงไม่เหมาะในการรักษาโดยเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือโรคเกาต์   ระหว่างรับประทานธาตุเหล็กเม็ด ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนม น้ำเต้าหู้ หรือยาลดกรดร่วมด้วย เนื่องจากจะลดการดูดซึมของธาตุเหล็ก และหาก รับประทานร่วมกับน้ำส้ม จะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กดีขึ้น หลังรับประทานธาตุเหล็กเม็ด อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ โดยมักเป็นเฉพาะ 2-3 วันแรก แล้วดีขึ้นเอง หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนชนิดของธาตุเหล็กเม็ด ตลอดระยะเวลาที่รับประทานธาตุเหล็กเม็ด อุจจาระจะมีสีดำเนื่องจากร่างกายขับเหล็กส่วนที่เหลือจากการดูดซึมออกทางอุจจาระ ไม่เป็นอันตรายใด ๆ
หลังจากให้ธาตุเหล็กทดแทน อาการ และความเข้มข้นเลือดจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลับมาเป็นปกติภายในเวลา 4-8 สัปดาห์ หากความเข้มข้นเลือด หรือระดับฮีโมโกลบิน ไม่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ร่างกายอาจมีการเสียเลือดอย่างต่อเนื่อง ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไม่ได้ หรือโลหิตจางจากสาเหตุอื่น เป็นต้น
การตรวจหาสาเหตุ ในผู้หญิงที่ประจำเดือนออกมากผิดปกติ จำเป็นต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา ส่วนผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว หรือผู้ชาย จำเป็นต้องตรวจหาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย โดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ และอาจต้องส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร
โดยสรุป ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เป็นสาเหตุสำคัญที่พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง และตอบสนองต่อการรักษาดีเยี่ยม รักษาหาย เป็นเฉพาะบุคคล ไม่ติดต่อสู่ผู้ดูแล หรือคนใกล้ชิด หากละเลยปล่อยให้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กเป็นเวลานานอาจส่งผลให้มีผมร่วง เส้นผมและเล็บเปราะบางผิดรูป อีกทั้งยัง ส่งผลต่อระดับสติปัญญา ความจำ สมาธิ และความรวดเร็วในการคิดวิเคราะห์ การรักษาประกอบด้วยการรับประทานธาตุเหล็กทดแทนร่วมกับการตรวจสาเหตุและแก้ไขสาเหตุไปพร้อม ๆ กัน โดยหากพบสาเหตุ ที่แก้ไขได้ อาจรับประทานธาตุเหล็กเพียงระยะสั้น 3-6 เดือน แต่หากพบสาเหตุเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องรับประทานธาตุเหล็กต่อ เนื่องในระยะยาว เพื่อให้ร่างกายมีธาตุเหล็ก เพียงพอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น