วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

หวัดเรื้อรัง…เมื่อไหร่จะหายสักที

ที่มา : อ.นพ.เจตน์ ลำยองเสถียร สาขาวิชาโรคหู คอ จมูกทั่วไป ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หวัดเรื้อรัง…เมื่อไหร่จะหายสักที
โดยทั่วไป “ไข้หวัด” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในโพรงจมูกและไซนัส ซึ่งสามารถหายได้เองในเวลาประมาณ 5 - 10 วัน แต่ถ้ามีอาการนานกว่าช่วงเวลาดังกล่าว อาจเรียกผู้ที่มีอาการนานกว่าปกติว่า “หวัดเรื้อรัง” เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมในโพรงจมูกและไซนัส ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการนานกว่า 10 วันหรืออาการแย่ลงหลังจากเริ่มมีอาการคัดจมูกได้ 5 วัน
หวัดเรื้อรัง มักจะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับจมูกและไซนัส ได้แก่
- น้ำมูกข้น
- คัดจมูก
- ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง
- ปวดตึงใบหน้า
นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ อ่อนเพลีย มีเสมหะอยู่ในคอตลอดเวลาและ ถ้ามีอาการมานานและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีริดสีดวงจมูกเกิดขึ้นได้ ในบางรายที่มีการติดเชื้อรุนแรง อาจทำให้มีการติดเชื้อลุกลามเข้าลูกตาหรือสมองได้
แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ท่านอาจไม่ได้เป็นหวัดเรื้อรัง เพราะมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น  เช่น
1. ผู้ที่มีริดสีดวงจมูกหรือเป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
2. ผู้ที่มีเนื้องอกในโพรงจมูกและไซนัส
3. ผู้ที่มีการอักเสบของไซนัสที่เกิดจากเชื้อรา แต่มักจะมีอาการมีน้ำมูก และคัดจมูกในจมูกข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
การรักษา
ผู้ป่วยที่เป็นหวัดเรื้อรัง หรือ มีการติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูกและไซนัส จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายสนิทได้​ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่ถ้าการอักเสบของไซนัสที่เกิดขึ้นไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการเจาะล้างไซนัสหรือผ่าตัดร่วมด้วย
ปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสสามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่านโพรงจมูกโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดจากภายนอก ซึ่งจะทำให้มีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยและผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ การพิจารณาว่าควรผ่าตัดหรือไม่ขึ้นอยู่กับแพทย์
ห่างไกลจากหวัดเรื้อรังได้ง่ายๆ โดย
ออกกำลังกาย  พักผ่อนให้เพียงพอ  ทานอาหารที่มีประโยชน์  เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรคที่ดี ไม่ติดเชื้อโดยง่าย
ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสจะสามารถหายเองได้เอง ซึ่งถ้าเป็นนานเกินประมาณ 5 -10 วัน ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม แต่ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจนมีอาการเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม ซึ่งเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเรื้อรังได้ด้วยการปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรคที่ดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น