วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

'มะเร็ง' ไม่น่ากลัว

ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
'มะเร็ง' ไม่น่ากลัว
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโลก ทั้งโลกได้ตกลงร่วมกันรณรงค์เพื่อลดการตายจากมะเร็งและโรคไม่ติดต่อลง 25% ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) คืออีก 9 ปีข้างหน้า
ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลขาธิการมูลนิธิสายธารแห่งความหวังและที่ปรึกษา ชมรมเพื่อนมะเร็งไทย กล่าวว่า สำหรับ ยุคนี้ มะเร็งมิได้เป็นเรื่องน่ากลัวอีกต่อไป มะเร็งอาจรักษาหายขาดได้ เราสามารถป้องกันมะเร็งบางอย่างได้ และถ้าใครเป็นมะเร็งในสมัยนี้ ก็ไม่ต้องผจญกับมะเร็งอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป ถึงเป็นมะเร็งที่รักษายาก ก็มีทางเลือกดี ๆ เสมอ ถึงแม้จะจากไปด้วยโรคมะเร็งก็ไม่ทุกข์ทรมานเช่นแต่ก่อน เพราะเรามีเพื่อนร่วมทางจนถึงที่หมายสุดท้าย
แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับแจ้งจากหมอว่าป่วยด้วยโรคมะเร็ง เหมือนกับการถูกพิพากษาประหารชีวิตเลยทีเดียว การดิ้นรถเพื่อเอาชีวิตรอดจึงเกิดขึ้นตามมา และเป็นโรคที่สร้างความน่าสะพึงกลัว เพราะสมัยนี้คนอายุมาก อายุน้อย หรือเด็ก ก็เป็นมะเร็งได้

มะเร็งอาจรักษาหายขาดได้
เดี๋ยวนี้คนเป็นมะเร็งไม่ได้ตายแน่เสียทุกคน มะเร็งบางชนิดอาจรักษาหายขาดได้ เช่นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มะเร็งเต้านม เป็นต้น มะเร็งหลายชนิด ถ้าตรวจพบในระยะแรกมีโอกาสรักษาหายขาด แต่จะตรวจพบก็ต่อเมื่อตั้งใจไปตรวจกรองหามะเร็ง เท่านั้น ถ้าจะรอให้มีอาการแล้วค่อยไปตรวจ ก็จะพบเมื่อเป็นก้อนใหญ่ หรือลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ แล้ว ที่เราเรียกกันว่าระยะท้ายแล้วเกือบทั้งสิ้น
มะเร็งที่ตรวจกรองได้ คือมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ สตรีทุกคนแม้ยังมีสุขภาพดี ตรวจภายในเพื่อหามะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป พึงเรียนรู้วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือรับการตรวจเอกซเรย์แมมโมแกรม ทุก 2 ปี ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้ชายทุกคนแม้ยังมีสุขภาพดี ควรรับการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องทางทวารหนักทุก 5 ปีตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป มะเร็งสามอย่างนี้ หากตรวจพบมะเร็งในระยะแรกอาจรักษาหายขาดโดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ร่วมกับการรักษาที่แพทย์แนะนำ
ไลฟ์สไตล์ ดึงดูดมะเร็ง
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า มะเร็งเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมในเซลล์ที่สะสมซ้อนกัน มะเร็งจึงเป็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น การใช้ชีวิตบางอย่างทำให้เป็นมะเร็งเร็วขึ้น ประกอบด้วย
บุหรี่ เร่งการเป็นมะเร็งปอดให้มากขึ้นและเร็วขึ้น 200 เท่า บุหรี่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งช่องปาก และมะเร็งอื่นอีกนับสิบชนิด มะเร็งเหล่านี้เป็นแล้วมักตายเร็ว จึงควรรณรงค์ลดการสูบบุหรี่อย่างจริงจัง
ความอ้วน เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม และมะเร็งอื่น ๆ อีกนับสิบอย่าง เราสามารถเลือกออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็ง และโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ คือ ลดความเสี่ยงเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจ ไปในคราวเดียวกัน
ผู้ที่กินเนื้อสัตว์โดยไม่กินผักผลไม้ เสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า ผู้ที่กินแต่ผักผลไม้และงดเนื้อสัตว์
เราสามารถเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่ข้อความนี้เป็นจริงเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่สามารถป้องกันมะเร็งอื่นได้
มะเร็งที่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
มะเร็งตับ ประเทศไทยจัดฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีให้ เด็กทุกคนมาตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว คนไทยอายุต่ำกว่า 25 ปีในวันนี้เมื่อโตขึ้นจะไม่เป็นมะเร็งตับ แต่ที่เหลือยังคงเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับในวัยเกษียณอายุ
มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ตั้งแต่เด็กวัยรุ่น ในวันนี้เราอาจจะตัองจ่ายเงินเองเพื่อฉีดลูกหลาน แต่ในอนาคตทุกคนคงจะได้ฉีดวัคซีนนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้นวัคซีนอาจไม่ได้ผล ยังคงต้องตรวจภายในเป็นประจำเมื่อถึงอายุอยู่ดี...จึงไม่ควรชะล่าใจ
ยุคนี้คนเป็นมะเร็ง ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป … เรามีเพื่อน
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า หมอไม่ควรปกปิดความจริงกับคนไข้ ว่า เป็นมะเร็งชนิดใด ระยะใด รักษาได้หรือรักษายาก ขอให้ตัวคนไข้ได้รับรู้ความจริงและตัดสินใจด้วยตนเอง และยุคนี้มีเพื่อนร่วมโรคมากมายในเมืองไทย และพวกเขาพร้อมที่จะคุยเป็นเพื่อน ประกอบด้วย
ชมรมเพื่อนมะเร็งไทย เป็นชมรมของผู้ป่วยมะเร็ง ผู้เคยป่วยเป็นมะเร็ง และกัลยาณมิตรผู้เคยสัมผัสมะเร็งทุกชนิด มีจิตอาสาที่จะรับฟังสถานการณ์ และพร้อมที่จะตอบคำถาม เพื่อสร้างความมั่นใจที่ในกระบวนการรักษาที่ผู้ป่วยจะเลือกหรือไม่เลือก และร่วมเป็นเพื่อนเดินทางกันต่อไป
ถ้ามะเร็งรักษายาก คนไข้มีทางเลือก
ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวว่า หากเป็นมะเร็งชนิดที่รักษายาก ระยะลุกลาม ระยะที่สี่ หรือระยะสุดท้าย สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตเต็มที่โดยอยู่กับมะเร็งอย่างสันติและมีความสุขก็ได้ ผู้ป่วยหลายคนที่เข้าใจสัจธรรมแห่งชีวิตมองว่าถ้ารักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย แล้วจะใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลทำไม?
คนไข้ สามารถวางแผนชีวิตเพื่อใช้ชีวิตให้เต็มที่ ใช้เวลาที่ยังมีอยู่กับสิ่งที่ทำให้มีความสุข อาจจะเป็นอาหารอร่อย ดนตรี กีฬา ไปเที่ยว สังสรรค์ บางคนใช้เวลานี้วางแผนและทำสิ่งที่ยังค้างอยู่ไม่ได้ทำให้เสร็จสิ้นเสีย บางคนหาโอกาสเยี่ยมเยียนคนสำคัญในชีวิต บางคนเร่งสร้างกุศลหรือปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นทุนสำหรับอนาคต
ยุคนี้ ไม่ต้องกลัวทุกข์ทรมานจากความปวด มีคุณหมอพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลประคับประคอง บำบัดอาการให้หายได้ สามารถเลือกสถานที่สุดท้ายที่จะตายอย่างสงบได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่อื่น ถ้าจะตายที่โรงพยาบาลสามารถขอไม่ให้ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ยื้อความตายได้เพิ่มความทุกข์ทรมานก่อนตายก็ได้ โดยการเขียนหนังสือแสดงเจตนาไม่รับบริการสาธารณสุข ไว้ล่วงหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น