วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต
ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือที่คนไทยรู้จักและเรียกกันว่า โรคอัมพาต นั้นเป็นโรคที่พบบ่อยมาก กล่าวคือ ทุกๆ 4 นาทีมีคนไทยเป็นอัมพาต 1 คน และทุกๆ 10 นาทีมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคนี้ พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้สูงอายุ อาการของโรคอัมพาตที่พบบ่อยๆ นั้น ได้แก่ แขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก พูดไม่ออก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยอาการผิดปกติดังกล่าวนั้นเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด พบอาการเตือนน้อยมาก
การเข้ารับการรักษาที่เร็วที่สุด ย่อมมีโอกาสในการหายเป็นปกติและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาต่ำสุดด้วยเช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า การรักษาที่ล่าช้าไปทุกๆ 1 นาที เซลส์สมองจะตายไป 2 ล้านเซลส์ ส่งผลต่อชีวิตผู้ป่วยที่สั้นลง 2 วัน ดังนั้นคนไทยทุกคนจึงต้องรู้จักโรคอัมพาตเป็นอย่างดี
1. โรคอัมพาต คือ โรคที่สมองสูญเสียหน้าที่อย่างเฉียบพลัน เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตกส่งผลให้เนื้อสมองขาดออกซิเจนและสูญเสียหน้าที่อย่างรวดเร็ว
2. อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อย คือ แขน ขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก พูดไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน วิงเวียนศีรษะ โดยอาการนั้นเกิดขึ้นในผู้มีปัจจัยเสี่ยง และเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน
3. ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพาต มี 2 กลุ่มหลัก คือ 1.ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ คือ โรคประจำตัวต่างๆ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจเต้นผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจตีบ ภาวะอ้วน สูบบุหรี่ 2.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ คือ เพศชายเสี่ยงสูงกว่าเพศหญิง อายุที่มากขึ้นตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ประวัติโรคอัมพาตในครอบครัว
4. ถ้าเกิดอาการผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้นและเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้รีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดทันที
5. การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1.โทรศัพท์ 1669 เพื่อติดต่อกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 2.การโทรศัพท์ไปยังห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้าน 3.การเรียกรถพยาบาลโดยใช้แอพพลิเคชั่น “FAST TRACK” หรือ “เรียกรถพยาบาล” 4.การนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด้วยรถส่วนตัวหรือรถรับจ้าง
6. เมื่อไปถึงโรงพยาบาลให้ไปที่แผนกฉุกเฉิน อย่าไปที่แผนกผู้ป่วยนอกปกติ ให้รีบแจ้งกับพยาบาลว่าสงสัยจะมีอาการของโรคอัมพาตทันที บอกเวลาที่เริ่มมีอาการผิดปกติให้ชัดเจน ถ้าใช้ยาอะไรเป็นประจำต้องบอกแพทย์ด้วย
7. แพทย์ พยาบาลจะรีบเข้ามาตรวจ ประเมินทันที ถ้าอาการเข้าได้กับโรคอัมพาต แพทย์จะมีการแจ้งเตือนระบบบริการ ทางด่วนโรคอัมพาต เพื่อให้การบริการในทุกจุดเป็นไปด้วยความรวดเร็วที่สุด
8. ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะตรวจเลือด ให้น้ำเกลือ และส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทันที เพื่อแพทย์จะได้ให้การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง
9. กรณีผลการตรวจพบว่าเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด และไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะอธิบายข้อดี ข้อเสียของการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยและ/หรือญาติตัดสินใจในการรับการรักษา
10. เมื่อพ้นระยะเฉียบพลันแล้ว ผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ โดยการรักษาโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง การทานยาป้องกันการเป็นซ้ำ และการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้ดีขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น