วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

ทำไม? ผู้ป่วยต้องงดน้ำ-อาหาร

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
โดย รศ.พญ.มานี รักษาเกียรติศักดิ์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ทำไม? ผู้ป่วยต้องงดน้ำ-อาหาร
ทำไม? ผู้ป่วยต้องงดน้ำ-อาหาร
ผู้ป่วยหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องงดน้ำงดอาหาร เพราะรู้สึกหิวและกระหายมาก บางคนไม่ทราบถึงความสำคัญจึงแอบ รับประทานและไม่บอก การกระทำดังกล่าวอันตรายมาก อาจทำให้เกิดการสูดสำลักเข้าปอดได้
ในผู้ป่วยที่ตื่นอยู่จะมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดการสำลักเข้าปอด โดยมีการปิดของฝาปิดกล่องเสียงป้องกันการสูดสำลักของอาหารและน้ำเข้าสู่ปอด ทำให้ระหว่างการกลืนอาหารหรือดื่มน้ำไม่เกิดการสำลัก กรณีที่ฝาปิดกล่องเสียงทำงานผิดปกติ และเกิดมีการสำลักเข้าไปยังหลอดลมก็จะมีการกระตุ้นการไอเพื่อที่จะเอาเศษอาหารออกมา แต่ในผู้ป่วยที่ระบบประสาททำงานผิดปกติไป เช่น ผู้สูงอายุบางคนจะเกิดการสำลักได้ง่าย ระหว่างการได้รับยานอนหลับปริมาณมากหรือยาดมสลบทำให้ กลไกป้องกันตัวเองของร่างกายได้สูญเสียไป

การงดน้ำงดอาหารเพื่อที่จะให้มีอาหาร น้ำ ในกระเพาะอาหารน้อยที่สุด แต่แม้ว่าจะงดน้ำงดอาหารแล้วตัวกระเพาะยังมีการหลั่ง น้ำย่อยออกมา น้ำย่อยมีความเป็นกรดสูง ถ้าสูดสำลักเข้าปอด ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดลม ถุงลมปอดได้ทำให้หลอดลมตีบเกร็ง การแลกเปลี่ยนแก๊สของปอดผิดปกติได้ ถ้าเป็นมากอาจทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน จนถึงแก่ชีวิตได้ ระดับความรุนแรงขึ้นกับปริมาตรและความเป็นกรดของสารที่สูดสำลัก กล่าวคือ ถ้าสูดสำลักปริมาณมาก หรือสารที่มีความเป็นกรดมากจะมีอาการมากกว่าผู้ที่สูดสำลักปริมาตรน้อย หรือสารที่มีความเป็นกรดน้อย
การป้องกันสามารถทำได้โดยการงดอาหาร 6-8 ชั่วโมง และ น้ำ 2-3 ชั่วโมง โดยทั่วไปอาหารที่ย่อยง่ายหรือนมงดเพียง 6 ชั่วโมงอาหารมื้อใหญ่ ปริมาณมากให้งด 8 ชั่วโมง น้ำหรือของเหลวใสไม่มีกาก เช่น น้ำผลไม้ น้ำหวาน เนื่องจากย่อยง่ายหยุดเพียง 2-3 ชั่วโมง ก็เพียงพอ แต่ในทางปฏิบัติกรณีที่มารับการระงับความรู้สึกและผ่าตัดในช่วงเช้า จะให้งดน้ำงดอาหารหลังเที่ยงคืน สำหรับการผ่าตัดในตอนบ่ายอาจงดหลังอาหารเช้า
แต่เนื่องจากตารางการผ่าตัดบางครั้งมีการปรับเปลี่ยนไม่แน่นอน บางครั้งผู้ป่วยที่เดิมมีกำหนดผ่าตัดตอนบ่ายอาจได้รับการเลื่อนให้มีการผ่าตัดให้เร็วขึ้น ในกรณีดังกล่าววิสัญญีแพทย์นิยมสั่งให้งดน้ำงดอาหารหลังเที่ยงคืนและให้น้ำเกลือในช่วงเช้าเพื่อลดความหิว กระหายของผู้ป่วย ทางปฏิบัติวิสัญญีแพทย์หลายทางไม่อนุญาตให้ดื่มน้ำเนื่องจากเกรงว่าจะดื่มน้ำผิดประเภท เช่น น้ำส้ม มีกาก กาแฟใส่ครีม เป็นต้น
ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร อาหารไม่ย่อย โรคอ้วน กรดไหลย้อน เบาหวาน ไตเรื้องรัง อาจต้องงดน้ำงดอาหาร นานมากขึ้น และกรณีที่มารับการผ่าตัดหรือส่องกล้องลำไส้ จะมีการเตรียม ลำไส้ศัลยแพทย์อาจให้งดอาหาร 1-2 วัน ให้ดื่ม กินแต่อาหารเหลวเพื่อให้ลำไส้สะอาดก่อนการผ่าตัด ร่วมกับการให้ยาระบาย ในผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงต่อการสูดสำลักวิสัญญีแพทย์อาจสั่งยาลดกรดหรือยากระตุ้น การทำงานลำไส้ก่อนล่วงหน้า เพื่อลดปริมาตรและความเป็นกรดของสารน้ำในกระเพาะอาหาร กรณีที่มารับการผ่าตัดฉุกเฉินความเสี่ยงของการสูดสำลักก็มีมากขึ้น แต่ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียของการรอให้ งดน้ำงดอาหาร 6 ชั่วโมง กับความรีบด่วนของการผ่าตัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น