วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

กินเหล้ากับยานอนหลับ อันตรายถึงชีวิต

ที่มา : manager.co.th

กินเหล้ากับยานอนหลับ อันตรายถึงชีวิต
กินเหล้ากับยานอนหลับ อันตรายถึงชีวิต
ในชีวิตประจำวันหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องของการกินอาหาร เจ็บป่วยก็ต้องกินยา และหลายคนที่มีโรคประจำตัว บ่อยครั้งที่เราอาจไม่ทราบว่าโรคที่เป็นอยู่ ยาที่กำลังจะกินหรือกินอยู่เดิม และอาหารที่อาจจะเป็นจานโปรดของเราจะมีปัญหา “ตีกัน” ได้ และหลายครั้ง ผลของการ “ตีกัน” นั้น รุนแรงเกินกว่าที่เราคาดคิด บทความตอนนี้จะนำเสนอคร่าวๆ ว่าจะมี ยา อาหาร (หรือเครื่องดื่ม) รวมถึงโรคอะไรบ้างที่อาจจะมีผลกระทบต่อกันและกัน

 “โรคภาวะพร่องเอนไซม์” G-6-PD (G-6-PD deficiency) เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านโครโมโซมเอ๊กซ์ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศ โรคนี้พบบ่อยในเพศชาย มีความรุนแรงหลายระดับ อาการแสดงที่มักปรากฎคือมีอาการซีด เนื่องจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงอย่างรวดเร็ว ปัสสาวะของผู้ป่วยเมื่อมีอาการกำเริบจะมีสีโค้ก หรือสีน้ำปลา และอาจเกิดไตวายเฉียบพลันได้ สาเหตุของการแตกทำลายอย่างรวดเร็วของเม็ดเลือดแดงมักจะมาจากอาหารบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางกลุ่มเช่น ciprofloxacin, nitrofurantoin หรือกระทั่งวิตามิน ซีในขนาดสูง ดังนั้นทุกครั้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็น G-6-PD deficiency ต้องแจ้งแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรทุกครั้งเมื่อไปรับการรักษา และไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
การดื่มสุรา สุราโดยตัวมันเองนอกจากจะเป็นสาเหตุหลักของโรคเรื้อรังหลายอย่าง ตัวแอลกอฮอล์นสุราเองก็สามารถตีกันกับยาที่เรากินเข้าไปได้ด้วยเช่น
สุรา ตีกับ ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด เช่น glipizide ทำให้ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดจากยา ดีเกินไป น้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลงมากจนผู้ป่วยเกิดอาการช็อค หมดสติ เสียชีวิตได้
สุรา ตีกับ ยาพาราเซตามอล ในผู้ป่วยที่ดื่มสุราอย่างหัวราน้ำ หากกินพาราเซตามอลแม้ในขนาดปกติ ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดตับอักเสบได้มากกว่าคนปกติที่ไม่ดื่มสุรา
สุรา ตีกับ ยารักษาวัณโรค ในผู้ป่วยวัณโรคที่ดื่มสุราจัด เมื่อกินยารักษาวัณโรคบางชนิด เช่น isoniazid จะทำให้รักษาวัณโรคไม่ได้ผล เพราะสุราไปลดระดับยา isoniazid ในเลือด
สุรา ตีกับ ยานอนหลับ อาจทำให้เกิดการกดประสาทอย่างรุนแรง หลับไม่ตื่นถึงขั้นเสียชีวิตได้
สุรา ตีกับ ยากันชักบางชนิด เช่น phenytoin สุราจะไปทำให้ระดับยากันชักในเลือดลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการใช้ยาไม่ได้ผล และแถมสุรากับยากันชักจะช่วยกันออกฤทธิ์กดประสาทให้มากกว่าเดิมด้วย
ผลไม้ประเภท grapefruit เป็นตัวชูโรงในเรื่องตีกันกับยา ผลไม้อันนี้พบมากในต่างประเทศ แต่อาจมีการนำเข้ามาบริโภคในประเทศได้ ยาที่สามารถตีกันกับผลไม้ประเภท grapefruit ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาฆ่าเชื้อรา ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคือ เราจะได้ฤทธิ์ในการรักษาและความเป็นพิษจากยานั้น ๆ มากจนเกิดพอดี เป็นอันตรายได้
ยาแก้อาการปวดหัวไมเกรนกลุ่มเออร์โกตามีน (ergotamine) ยากลุ่มนี้มี “โจทก์” ในการตีกันกับยาอื่น ๆ มากมายนับสิบรายการ หลัก ๆ คือยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาฆ่าเชื้อรา ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ยานอนหลับบางชนิด ผลที่ตามมาคือ จะได้ฤทธิ์ของ ergotamine มากเกินจนทำให้หลอดเลือดฝอยส่วนปลายตามแขน ขา ตีบ หด จนเลือดไปเลี้ยงไม่ได้ เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อส่วนปลาย ทั้งปลายแขน ปลายขา บางรายรุนแรงมากรักษาไม่ได้ต้องตัดอวัยวะหรือเสียชีวิตก็มี
เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่รับบริการทางการแพทย์ “แจ้งแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัวอะไร กินยาอะไรอยู่บ้าง” เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา “การตีกัน” ระหว่าง ยา โรค อาหาร โดยไม่ได้ตั้งใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น