วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560

โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)
โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)
          โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โดยส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน (Ischemic stroke) และอีกประมาณ 20% เป็นหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)
      

    สำหรับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน เกิดจาก
          -หลอดเลือดแดงตีบตันเนื่องจากมีการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือด เกิดจากโรคความดันสูง, ไขมัน, เบาหวาน
          -เกิดจากมีลิ่มเลือด (ส่วนใหญ่มาจากหัวใจ) อุดหลอดเลือดแดงที่สมอง เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
          -สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคเลือดแข็งตัวผิดปกติ, หลอดเลือดแดงอักเสบ, การติดเชื้อ และยาเสพติด
          ปัจจัยเสี่ยงของโรค
          -ความดันโลหิตสูง
          -ภาวะไขมันในเลือดสูง -โรคเบาหวาน -โรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ลิ้นหัวใจผิดปกติ
          -การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา -อายุที่มากขึ้น
          อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
          -อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกของร่างกาย
-เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินลำบาก
-ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน -ตามัว เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็น
-พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก ไม่เข้าใจคำพูด อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ถ้าท่านมีอาการควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว อย่านิ่งนอนใจ เพราะอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณอันตรายของโรค
          การตรวจวินิจฉัยโรค
          -การตรวจเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาลและไขมัน ตรวจการแข็งตัวของเลือดเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรค
          -การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ -การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ ได้แก่ การตรวจหลอดเลือดที่คอ การตรวจหลอดเลือดในสมอง การตรวจหัวใจ
          -การตรวจทางรังสี ได้แก่ การตรวจสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
          การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
          ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ถ้าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเร็วเท่าไร ความพิการและอัตราการตายจะลดลงมากเท่านั้น
          โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
          เป้าหมายของการรักษาเพื่อทำให้เลือดไหลเวียนไปสมองได้อย่างปกติ โดยหากผู้ป่วยรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังมีอาการ สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (rtPA : recombinant tissue plasminogen activator) เพื่อรักษาได้
          นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดระยะเฉียบพลันที่เกิดจากหลอดเลือดสมองเส้นหลักอุดตันด้วยการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือด (Mechanical thrombectomy) ซึ่งแพทย์ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
          โรคหลอดเลือดสมองแตก
          เป้าหมายของการรักษาเพื่อควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมากอาจพิจารณาทำการผ่าตัด
          การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
-ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
-ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
-ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง
-ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม
-งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบมาพบแพทย์ แม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ
          ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้ ในกรณีที่เป็นชนิดตีบหรืออุดตันแพทย์จะรักษาโดยให้กินยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและไม่ควรหยุดยาเอง
          การป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเอง หมั่นตรวจสุขภาพและควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น