วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

"สูงวัย" แค่ใจสู้ ไม่เพียงพอ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"สูงวัย" แค่ใจสู้ ไม่เพียงพอ
"สูงวัย" แค่ใจสู้ ไม่เพียงพอ
สูงวัยแล้วช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีลูกหลานดูแล ลองดูว่ามีตัวช่วยอะไรบ้าง คงเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า ลูกๆ เกี่ยงกัน ไม่อยากดูแลพ่อเม่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ,คนดูแลผู้สูงวัยหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร,คนชรายากจนถูกนำไปทิ้งในบ้านพักคนชรา ฯลฯ นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และปัญหาเหล่านี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ...
ถ้านับจากพุทธศักราชนี้ (ปี2560) อีก 6 ปีข้างหน้า เมืองไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์แบบ เพราะมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้คนทำงานในแวดวงผู้สูงวัยจะตื่นตัว แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็คือ ภาครัฐยังไม่ได้ออกแบบกลไกการดูแลผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพ ถ้าอย่างนั้นครอบครัวที่มีผู้สูงวัยต้องดูแล หรือคนที่เข้าสู่ช่วงสูงวัย หากถึงวันที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง...

บ้านที่ใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนถึงวัยกลางคน อาจไม่ปลอดภัยและสะดวกในการใช้ชีวิตอีกต่อไป ถ้าอย่างนั้นต้องปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับวัยที่เปลี่ยน คือไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
ถ้าเป็นคนโสด ก็ต้องศึกษาดูว่า มีบ้านและคอนโดที่สร้างมาเพื่อผู้สูงวัยที่ไหนบ้างและเครื่องใช้ไม้สอยในช่วงหูตาฝ้าฟาง รวมถึงสัญญาณแจ้งเตือนเวลาเกิดอุบัติเหตุ หกล้ม หน้ามืดเป็นลม
เหตุที่ต้องหาตัวช่วยให้มากที่สุด เพราะสังคมไทย ยังไม่มีระบบการดูแลผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพเหมือนในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ แต่ก็มีข้อได้เปรียบ ส่วนใหญ่ลูกๆไม่ทิ้งบุพการี แต่ก็มีบ้างที่ทอดทิ้งพ่อแม่อย่างไร้เยื่อใย
1. ณ วันนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นหญิงหรือชาย แข็งแรงเพียงใด ก็ต้องมีวันที่ร่างกายถดถอย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ศ.นพ.สุทธิชัย จิตะพันธ์กุลหัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและพฤฒาวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (เสียชีวิตไปเมื่อเดือนมกราคม2559) ได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่าอายุขัยเฉลี่ยของชายไทยประมาณ 80.3 ปี ส่วนหญิงไทยประมาณ 83.9 ปี เพศหญิงแม้สภาพภายนอกดูอ่อนแอ แต่อายุยืนกว่า เพราะมียีนแห่งความเข้มแข็งฝังอยู่ภายในมากกว่าเพศชาย จึงมีช่วงเวลาบั้นปลายชีวิตที่ยืนยาวกว่าเพศชาย
ว่ากันว่า หลังอายุ 60 ปี ผู้หญิงยังมีช่วงการใช้ชีวิตอย่างอิสระระยะเวลา 18.2 ปี ขณะที่ผู้ชายมีช่วงชีวิตดังกล่าวแค่ 16.4 ปี อิสระในที่นี่คือ พึงพิงตนเองได้ แต่เมื่อใดที่ผู้หญิงมีอายุตั้งแต่ 78.2 ปี พวกเธอจะทำกิจกรรมได้จำกัด แต่ยังพึงพิงตนเองได้ เวลาช่วงนั้นจะอยู่ประมาณ2.9 ปี ส่วนผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัย76.4ปี อาจจะเริ่มใช้ไม้เท้า หรือนั่งวีลแชร์ ทำกิจกรรมได้น้อยลงหรือต้องมีผู้ช่วยเหลือบ้าง ช่วงดังกล่าวจะอยู่กับคุณผู้ชายแค่ 2.2 ปี
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ทั้งเรื่องอาหารการกิน ยีน การดูแลตนเอง และการออกกำลังกาย รวมถึงสภาวะจิตใจ แม้จะไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มีค่าเฉลี่ยให้เห็นว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุดังกล่าว คนเราไม่อาจฝืนสังขารได้ อายุคาดหวังเฉลี่ยในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จะค่อยๆ หดหายไปตามสภาพ
2. หากเมื่อไหร่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ คนในครอบครัว ก็ต้องหาตัวช่วยให้คนสูงวัยอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข
“ตอนผมออกแบบบ้านพี่ชายให้พ่อที่สูงวัยย้ายมาอยู่ ท่านก็ไม่ยอมย้าย เพราะตอนนั้น ผมลืมนึกถึงเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน” รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทำงานด้านนี้กว่าสิบปี เล่า เพื่อให้ว่า บางครั้งเขาก็หลงลืมบางเรื่องที่ละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิต นั่นก็คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และวิถีแบบตะวันออกที่มีอยู่เต็มเปี่ยม แต่ปัจจุบันค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามวิถีตะวันตก
“โครงสร้างสังคมแบบตะวันออก ครอบครัวยังดูแลพ่อแม่ ถ้าห่างไกลลูกหลาน ผู้สูงอายุก็ไม่ชอบ” สิ่งที่อาจารย์ไตรรัตน์กล่าว ก็ไม่ต่างจากที่หลายคนได้ยินได้ฟัง
“ยิ่งศึกษา ก็ยิ่งมีความรู้ลึกซึ้งมากขึ้น ตอนแรกผมก็ออกแบบที่อยู่ผู้สูงอายุแบบคนเมือง ลืมนึกถึงคนชนบท จนผมต้องฉีกตำราที่เรียนตามตะวันตกทิ้ง”
และปัญหาสังคมสูงวัยในปัจจุบัน คงไม่ใช่แค่ความแออัดของบ้านพักคนชรา ลูกไม่ดูแลพ่อแม่ แต่มีมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น ก็คือ รัฐต้องจัดระบบการดูแลผู้สูงวัยที่ดีให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
เนื่องจากปัจจุบันประชากรอายุ 60 ในประเทศนี้มีจำนวนกว่า10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโดยรวม และ ใน6 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะมีผู้สูงวัย20เปอร์เซ็นต์ของประชากร เรื่องนี้อาจารย์ไตรรัตน่เปรียบเปรยให้เห็นว่า จากปีพ.ศ.2544 -2566 ตัวเลขผู้สูงวัยจะเปลี่ยนจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ หากคำนวณคร่าวๆ จากประชากร 70 ล้านคน ปี 2566 สังคมไทยก็จะมีผู้สูงอายุประมาณ14 ล้านคน
“เพราะเราไม่มีการวางแผนประชากรที่ดี การเตรียมการณ์เรื่องสังคมสูงวัยมีน้อยมาก ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กน้อยลง หากเปรียบเทียบกับทางยุโรป ญี่ปุ่น ประชากรสูงวัยที่เพิ่มจาก 10 เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเวลานั้นฝรั่งเศสใช้เวลา 115 ปี สวีเดน 95 ปี แต่ไทยใช้เวลาเปลี่ยนผ่านแค่ 22 ปีเวลานานขนาดนั้น พวกเขาเตรียมทั้งเรื่องระบบสุขภาพเมือง รวมถึงเศรษฐกิจ ประมาณว่า ต้องรวยก่อนแก่ แต่เรายังไม่รวยเลย แก่แล้ว”
3. เมื่อชราภาพ แล้วไม่ร่ำไม่รวย ก็ไม่หนักเท่าพ่อแม่สร้างภาระหนี้สินส่งผ่านไปถึงลูกหลาน เพราะก่อนหน้านี้ วิถีการใช้เงินที่เรียกว่า ใช้ก่อนผ่อนทีหลัง เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เดินบนเส้นทางนั้น แต่ก็หลงลืมอะไรบางอย่าง ก็คือการออมอย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐก็ไม่ได้ให้ความรู้แบบง่ายๆ หรือสร้างระบบการออมที่ดีให้ประชาชนเหมือนที่บางคนบอกว่า
“ถ้าใช้ชีวิตยากเกินไป จะทำ ไปทำไม ชีวิตต้องง่ายสิ” เอาง่ายๆ เลย ถ้าเมื่อใดที่คนเราแก่ตัวลง จะต้องเสียค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งในการดูแลสุขภาพ เรื่องนี้เคยอยู่ในความคิดไหม “อย่างผมน้ำหนักเยอะ ก็จะมีปัญหาไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิต ในงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุเกินร้อยปีส่วนใหญ่ผอม คนเมืองที่อ้วนๆ จะอายุสั้น เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวดูแลตัวเอง ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคต และลดการพึ่งพา” อาจารย์ไตรรัตน์ กล่าว
แม้คนไทยยุคใหม่จะให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น แต่ในปัจจุบันคนสูงวัยที่ป่วยไข้ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย เนื่องจากการใช้ชีวิตและการกิน รวมถึงมีความเชื่อว่าป่วยแล้วค่อยว่ากัน
“คนสูงวัยยากจนถูกทอดทิ้งก็เยอะ เรื่องแบบนี้รัฐบาลต้องช่วยเหลือร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่รัฐใช้นโยบายจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเหมือนกันทั้งประเทศคือ เดือนละหกร้อยบาท ผมไม่เห็นด้วย และมองว่า คนสูงวัยที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ควรได้รับเงินจำนวนนี้มากกว่า ในสิงคโปร์มีการสำรวจว่า กลุ่มคนสูงอายุแต่ละคนสุขภาพเป็นอย่างไรมีคนดูแลไหม ฐานะการเงินเป็นยังไง ถ้าพบว่า ไม่ดีเลย รัฐบาลจะช่วยเหลือเต็มที่ ทั้งที่พัก เบี้ยสวัสดิการ สถานสงเคราะห์คนชราของเขาก็ดีกว่าเรา แต่เราไปเอาแนวคิดปลายทางมาทำสถานสงเคราะห์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ต้องให้ผู้สูงอายุอยู่ในถิ่นเดิม และรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้อบต. ช่วยเหลือชุมชนมีการเยี่ยมบ้าน และปรับปรุงบ้าน ถ้ารัฐไม่ทำเรื่องนี้ภายในห้าปี มีปัญหาแน่”
แม้ปัจจุบันจะมีบ้านพัก คอนโด สำหรับผู้สูงวัยมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ อาจารย์ไตรรัตน์ยกตัวอย่าง โครงการสวางคนิเวศ(คอนโดต้นแบบเพื่อผู้สูงอายุของสภากาชาดไทย) ที่เขามีส่วนออกแบบและร่วมคิดคอนเซ็ปต์ นั่นเป็นแค่ทางเลือก และไม่ได้พัฒนาให้เติบโตเหมือนคอนโดทั่วไป
“ตอนนี้มีคนรอคิว 600- 700 คน เพราะผมไม่เห็นด้วยที่จะสร้างออกมาเยอะๆ ถ้าเยอะเกินไปจะทำให้กลไกทางสังคมเปลี่ยน ลูกหลานทิ้งพ่อแม่เร็วขึ้น จึงต้องค่อยๆ ทำ อีกอย่างผมเสนอให้รัฐบาลประกาศนโยบายลดภาษีบางอย่างเพื่อคนจะได้นำเงินไปซ่อมแซมบ้านให้ผู้สูงอายุอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิด ลูกหลานดูแลได้ ”
4.ปัจจุบันหน่วยงานที่อาจารย์ไตรรัตน์ทำงานด้านผู้สูงอายุ ได้รวบรวมแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุจากหลายหน่วยงานไว้แจกฟรีเพื่อให้คนนำไปปรับปรุงบ้านส่วนอีกเรื่องพยายามผลักดันให้บริษัทเอกชนและคนในชุมชนทำผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยออกมาจำหน่ายเยอะๆ เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันได้เห็นแล้วว่า มีทั้งอุปกรณ์พื้นลดแรงกระแทก ,สัญญาณฉุกเฉิน, เซนเซอร์ติดตามตัวเมื่อออกนอกพื้นที่,เครื่องดูดฝุ่นที่ผู้สูงอายุไม่ต้องก้มทำความสะอาด ,นาฬิกาช่วยดูแลสุขภาพ โทรออกได้ด้วย และหุ่นยนต์ดินสอ ฯลฯ
"ผมเคยไปรณรงค์ให้ทางเอสซีจีและโฮมโปร ผลิตสินค้าสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น อย่างเก้าอี้ที่คุณนั่ง สบายไหม นี่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ กว้าง มั่นคง แข็งแรง นุ่ม ผมก็ซื้อเก้าอี้แบบนี้ให้พ่อผม ต้องสั่งทำตามความสูงของคนนั่ง และผมไปส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตราวจับไม้ไผ่ไม้เท้าจากหวาย ราคาร้อยสองร้อย เพราะไม้เท้าเหล็กราคาแพง ในญี่ปุ่นมีไม้เท้าคุณภาพดีขายในร้านร้อยเยน เราเห็นความสำคัญจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านในพิจิตรและปากเกร็ดผลิตออกมา ”
“ตะเกียบสำหรับผู้สูงวัยก็มีนะ ในญี่ปุ่นทำเป็นตัวล็อตใช้งานง่าย หรือชามเล็กๆ มือสอดเข้าไปได้ น้ำหนักเบา ช้อนธรรมดาๆ คนญี่ปุ่นทำให้ด้านใหญ่ขึ้น จับง่าย ไม่ต้องออกแรงเยอะ หรือราวจับเพื่อพยุงตัวที่ขายกันเป็นสเตนเลส จับแล้วรู้สึกเย็นๆ เราก็บอกผู้ผลิตว่า ให้ทำเป็นไม้ หรือให้ลองปรับพื้นกระเบื้องเป็นพื้นนุ่มๆ เพราะคนสูงวัยกล้ามเนื้อเล็กๆ ไม่ค่อยทำงานแล้ว ตอนนี้ผมกำลังทำคู่มือว่า จะซื้อสินค้าเพื่อผู้สูงอายุได้ที่ไหน ตอนผมไปญี่ปุ่นช่วงงานแสดงสินค้าผู้สูงอายุ ที่โน้นรัฐให้เงินสมทบ เพื่อทำให้ธุรกิจขยายตัว ”อาจารย์ไตรรัตน์ กล่าว และเห็นว่า ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุมีอยู่ทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะผลิต แต่ขึ้นอยู่ว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตมากน้อยเพียงใด
“เป็นธุรกิจที่จะรุ่งในอนาคต รัฐควรสนับสนุนให้ญี่ปุ่นมาผลิตสินค้าแบบนี้ในเมืองไทย เนื่องจากค่าแรงในญี่ปุ่นแพงมากรวมถึงให้ภาคเอกชนของเราผลิตเองหรือมีนโยบายกึ่งบังคับสำหรับธุรกิจบ้านจัดสรรหรือคอนโด ต้องสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุสิบเปอร์เซ็นต์เมื่อสร้างบ้านหรือคอนโดทั้งหมด อสังหาริมทรัพยกลุ่มไหนทำก็ลดภาษีให้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น